เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ

ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูม
ตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพมา
[346] ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทพ ผู้มีเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์แวดล้อม มีปัญจสิขะ
คันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้ทรงหายตัวจาก(ภพ)ชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏอยู่ที่ภูเขาเวทิยกะ
ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
เวลานั้น ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนัก ด้วย
เทวานุภาพของเหล่าเทพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงรอบ ๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า “วันนี้
ภูเขาเวทิยกะถูกไฟเผาไหม้ลุกโชติช่วง ทำไมหนอ วันนี้ ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้าน
พราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนักเล่า” พากันตกใจขนพองสยองเกล้า
[347] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมา
ตรัสว่า “ปัญจสิขะ ตถาคตทรงเข้าฌาน1 ทรงพอพระทัยในฌาน ระหว่างที่พระองค์
ประทับหลีกเร้นอยู่ คนเช่นเรายากที่จะเข้าไปเฝ้าได้ ทางที่ดี พ่อควรทำให้พระองค์
ทรงพอพระทัยก่อน หลังจากนั้น พวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงถือพิณสีเหลืองดังผลมะ-
ตูมเข้าไปจนถึงถ้ำอินทสาละแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร คะเนดูว่า “ระยะเท่านี้พระผู้
มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากเรา และทรงได้ยินเสียงของเรา”

เชิงอรรถ :
1 เข้าฌาน หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ ในที่นี้มุ่งถึงฌาน 2 คือ (1) อารัมมณูปนิชฌาน
(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4) (2) ลักขณูปนิชฌาน(การเพ่งลักษณะ
ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ที.ม.อ. 347/315)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :274 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [8. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

[348] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้บรรเลงพิณสีเหลือง
ดังผลมะตูมและกล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม
เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
“แม่ภัททาสุริยวัจฉสา1
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
เหมือนสายลมย่อมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ
หรือเหมือนน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย
เธอผู้ไฉไลเป็นที่รักของฉัน
ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์
เธอจงช่วยดับความเร่าร้อน2
เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย
เหมือนให้อาหารแก่ผู้หิว
หรือเหมือนใช้น้ำดับไฟที่กำลังลุกอยู่
ขอให้ฉันได้ซบลงจดถันและอุทรของเธอ
เหมือนช้างที่ร้อนจัดในคราวร้อน
หยั่งลงสู่สระโบกขรณีมีน้ำเย็น
ระคนด้วยละอองเกสรดอกปทุม
ฉันมึนงงเพราะ(เห็น)ช่วงขาที่งามสมส่วน
ไม่รับรู้เหตุการณ์ (อะไรๆ)
เหมือนช้างเหลือขอเพราะถือว่าเราชนะได้แล้ว3

เชิงอรรถ :
1สุริยวัจฉสา เป็นชื่อของเทพธิดา ผู้มีสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีรัศมีอ่อน ๆ เปล่งออกจากร่างกายดุจ
แสงอ่อนของดวงอาทิตย์ยามทอแสง (ที.ม.อ. 348/316)
2ความเร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนเพราะไฟคือราคะ (ที.ม.อ. 348/316)
3เราชนะได้แล้ว หมายถึงไม่อยู่ในอำนาจของแหลนและหอกซัด (ที.ม.อ. 348/317)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :275 }